ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ข้อมูลเกี่ยวกับ IMO

ข้อมูลเกี่ยวกับ IMO

องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) เป็นทบวงการชำนัญพิเศษ (Specialized agency) แห่งสหประชาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล อำนวยความสะดวก และเป็นกลไกเพื่อให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 175 ประเทศ และสมาชิกสมทบ (หมู่เกาะฟาโร มาเก๊า และฮ่องกง) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

โครงสร้างการดำเนินงาน

1.

สมัชชา (Assembly)

เป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุดประกอบด้วยสมาชิกทุกประเทศ โดยสมัชชาจะมีการประชุมสมัยสามัญ 1 ครั้ง ทุก 2 ปี เพื่อให้ความเห็นชอบแผนงาน ยุทธศาสตร์ งบประมาณ การตัดสินใจด้านการเงิน และการเลือกตั้งคณะมนตรีเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลงานของ IMO แทนสมัชชาในช่วงระหว่างสมัยการประชุม

2.

คณะมนตรี (Council)

เป็นองค์กรระดับบริหาร ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 40 ประเทศ ได้รับเลือกตั้งจากสมัชชา โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม A จำนวน 10 ประเทศ กลุ่ม B จำนวน 10 ประเทศ และ กลุ่ม C จำนวน 20 ประเทศ อยู่ในวาระคราวละ 2 ปี โดยคณะมนตรีจะทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแลงานด้านต่าง ๆ อาทิ
ก) ประสานงานการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรใน IMO
ข) พิจารณาร่างแผนการปฏิบัติงานและงบประมาณก่อนนำเสนอสมัชชา
ค) พิจารณารายงานของคณะกรรมการและองค์กรต่าง ๆ ของ IMO แล้วนำเสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อสมัชชา
ง) แต่งตั้งเลขาธิการ IMO
จ) ทำความตกลงกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ

ประเภทของสมาชิกคณะมนตรี IMO

กลุ่ม A

ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในการให้บริการด้านการขนส่งสินค้าทางเรือระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ

กลุ่ม B

ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในด้านการค้าที่ขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ

กลุ่ม C

ประเทศสมาชิกที่มิได้อยู่ในกลุ่ม A หรือ B ซึ่งมีผลประโยชน์เป็นพิเศษในด้านการขนส่งทางทะเลหรือการเดินเรือและเป็นตัวแทนภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จำนวน 20 ประเทศ

คณะกรรมการต่าง ๆ

1. คณะกรรมการความปลอดภัยทางทะเล
(Maritime Safety Committee: MSC)

ประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิก IMO ทั้งหมด ทำหน้าที่พิจารณาและรับรองมาตรฐานข้อบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยในการเดินเรือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อบังคับภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความปลอดภัยแห่งชีวิตในทะเล (International Convention for the Safety of Life at Sea: SOLAS)

2. คณะกรรมการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล
(Marine Environment Protection Committee: MEPC)

ประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิก IMO ทั้งหมด ทำหน้าที่พิจารณาและรับรองมาตรฐานข้อบังคับเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลจากการเดินเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อบังคับต่าง ๆ ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกับมลพิษทางทะเล (The Convention for Prevention of Marine Pollution: MARPOL)

3. คณะกรรมการกฎหมาย
(Legal Committee: LEG)

ประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิก IMO ทั้งหมด ทำหน้าที่พิจารณาประเด็นต่าง ๆ ด้านกฎหมายที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของ IMO

4. คณะกรรมการอำนวยความสะดวก
(Facilitation Committee: FAL)

ประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกทั้งหมดทำหน้าที่พิจารณาและรับรองมาตรฐานข้อบังคับเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวก ในการเดินเรือระหว่างประเทศซึ่งอยู่ภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการอำนวยความสะดวก (The Convention on Facilitation of International Maritime Traffic: FAL)

5. คณะกรรมการความร่วมมือทางวิชาการ
(Technical Cooperation Committee: TCC)

ประกอบด้วยผู้แทนประเทศสมาชิกทั้งหมด ทำหน้าที่พิจารณาประเด็นเกี่ยวกับโครงการความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อบังคับภายใต้อนุสัญญาฉบับต่าง ๆ ของ IMO นอกจากนี้ ยังมีคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ทำหน้าที่สนับสนุนงานของคณะกรรมการฯ ได้แก่
(1) คณะอนุกรรมการว่าด้วยการขนส่งสินค้าและคอนเทนเนอร์ (The Sub-Committee on Carriage of Cargoes and Containers: CCC)
(2) คณะอนุกรรมการว่าด้วยปัจจัยเกี่ยวกับมนุษย์ การฝึกอบรมและการเข้ายามของคนประจำเรือ (The Sub-Committee on Human Element, Training and Watchkeeping: HTW)
(3) คณะอนุกรรมการว่าด้วยการดำเนินงานตามตราสารต่าง ๆ (The Sub-Committee on Implementation of IMO Instruments: III)
(4) คณะอนุกรรมการว่าด้วยการเดินเรือ การติดต่อสื่อสาร การค้นหาและช่วยเหลือชีวิต (The Sub-Committee on Navigation, Communications and Search and Rescue: NCSR)
(5) คณะอนุกรรมการว่าด้วยการป้องกันและการจัดการมลภาวะ (The Sub-Committee on Pollution Prevention and Response: PPR)
(6) คณะอนุกรรมการว่าด้วยการออกแบบและต่อสร้างเรือ (The Sub-Committee on Ship Design and construction: SDC)
(7) คณะอนุกรรมการว่าด้วยระบบและอุปกรณ์ประจำเรือ (The Sub-Committee on Ship Systems and Equipment: SSE)

สำนักเลขาธิการ IMO

สำนักเลขาธิการ IMO ประกอบด้วยกองต่าง ๆ อาทิ กองความปลอดภัย กองสิ่งแวดล้อม กองกฎหมายและความสัมพันธ์ภายนอก กองการบริหารงาน กองการประชุม และกองความร่วมมือทางวิชาการ และกลุ่มงานต่าง ๆ มีเจ้าหน้าที่ประจำกว่า 300 คน โดยเลขาธิการ IMO ทำหน้าที่หัวหน้าผู้บริหารงาน (ปัจจุบัน Mr. Kitack Lim จากสาธารณรัฐเกาหลี ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ IMO วาระแรก 4 ปี ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2559 – 31 ธันวาคม 2562 และวาระที่สองเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 – 31 ธันวาคม 2566)
IMO ท่านทูต